อาจารย์เหลียง

อาจารย์เหลียง เป็นลูกครึ่งไทย-ฮ่องกง ฝึกมวยจีนจากพ่อตั้งแต่เด็ก ต่อมามีเรื่องชกต่อยในสมัยวัยรุ่น พ่อก็เลยเลิกสอนไป ในช่วงวัยรุ่นเคยใช้ชีวิตนอกลู่นอกทางอยู่พักหนึ่ง ต่อมาได้เจออาจารย์มวยไท่จี๋ (มวยไท่เก๊ก) เรียนวิชามวยไท่จี๋ตระกูลหยางทั้งสองสาย คือสาย อ.หยางเส้าโหว และสาย อ.หยางเฉิงฝู่ จึงได้พัฒนาร่างกายและจิตใจกลับสู่วิถีทางที่ถูกต้องอีกครั้ง เริ่มเผยแพร่วิชาครั้งแรกด้วยการสร้างเว็บไซต์ “มวยภายใน” เว็บแรกของไทยในสมัยเริ่มต้นยุคอินเตอร์เน็ต และสอนมวยไท่จี๋ในจังหวัดขอนแก่น ภายหลังจากย้ายมาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่บิดาของอาจารย์เหลียงล้มป่วยทำให้อาจารย์เหลียงต้องทำงานดูแลครอบครัวจนต้องเลิกฝึกฝนไปพักหนึ่ง ภายหลังจึงได้เดินทางเรียนวิชาเพื่อต่อยอดถึงประเทศจีน ศึกษาหลักวิชาอย่างเข้มข้น และได้ผ่านพิธียกน้ำชาไหว้ครูเข้าสายสำนักตระกูลหยางสายกู้หลี่ว์ผิงอย่างเป็นทางการ หลังจากฟื้นฟูวิชาอาจารย์เหลียงจึงเริ่มเปิดสอนสาธารณะ โดยการสอนมุ่งที่การปฏิบัติอย่างถูกต้องตามหลักวิชามวยในคัมภีร์มวยให้ได้ เน้นการพัฒนาแรงภายใน (จิ้น/จิ้ง) ตามหลักวิชามวยไท่จี๋ตระกูลหยางอย่างถูกต้อง

ปัจจุบันอาจารย์เหลียง สอนมวยไท่จี๋แก่ลูกศิษย์ในกลุ่มสำนักเซี่ยวเฉิน ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่ กรุงเทพ รวมทั้งยังมีเวิร์คช็อปและสาขาในต่างประเทศทั่วโลก

ชุดมวย

  1. ชุดมวยไท่จี๋ตระกูลหยางวงกว้าง 88 ท่า เป็นชุดมวยวงกว้างสำหรับปรับท่าร่างและร่างกายให้แข็งแรง
  2. ชุดมวยไท่จี๋ตระกูลหยางชุดเก่า 108 ท่า (ชุดมวยหยางเส้าโหว) เป็นชุดมวยที่เน้นการพัฒนาภายในมากขึ้น เน้นการใช้อี้ (จิต) และชี่  ในการเคลื่อนไหว
  3. ชุดมวยวงแคบ ชุดที่ 1 กงลี่เจี้ย สำหรับพัฒนาระดับของพลังให้มากขึ้น
  4. ชุดมวยวงแคบ ชุดที่ 2 สำหรับพัฒนาการเปลี่ยนแปลงภายในระดับที่ซับซ้อนและละเอียดขึ้น
  5. ชุดมวยการใช้หรือย่งเจี้ย หรือเรียกว่าเส้าโหวเจี้ย 78 ท่า เป็นมวยเร็วสำหรับพัฒนาความคล่องตัว การเปลี่ยนแปลง และการฟาจิ้น (การส่งจิ้นหรือแรงภายในออกมา)

ชุดอาวุธ

  1. กระบี่ไท่จี๋ตระกูลหยาง
  2. ดาบไท่จี๋ตระกูลหยาง
  3. พลองไท่จี๋ตระกูลหยาง แบ่งเป็นสองชุดฝึก คือฝึกกงลี่ (เพิ่มพูนระดับพลัง) กับฝึกเกาะติด
  4. ทวนไท่จี๋ตระกูลหยาง มี 2 ชุด คือชุดฝึกทวนใหญ่ ยาว 4 เมตร และชุดทวนใช้ ยาวปกติไม่เกิน 2 เมตร

ชุดฝึกภายในต่างๆ

  1. ชุดฝึกภายใน เน่ยกง 13 ท่า
  2. ชุดฝึกเส้นเอ็นสิบท่าหรือสือจินจิง
  3. ชุดฝึกเน่ยกงแปดท่าหรือเลี่ยนกงปาฝ่า
  4. ชุดฝึกภายในปาต้วนจิ่นตระกูลหยาง
  5. ท่ายืนจวงกงเพื่อพัฒนาร่างกายและภายในต่างๆ
  6. ซงกง 5 ท่า สาย อ.หวงซิ่นเสียน (ได้จากการแลกเปลี่ยนวิชากับ อ. Adam Mizner)

ชุดฝึกผลักมือ

  1. ชุดฝึกผลักมือแบบเท้านิ่ง (คือไม่ก้าวเท้า)
  2. ชุดฝึกผลักมือก้าวเดิน
  3. ชุดฝึกผลักมือต้าหลีว์
  4. ชุดฝึกผลักมือก้าวเดินรูปแบบพิเศษ เช่น ก้าวดอกเหมย, ก้าวเจ็ดดาว, ก้าวเท้าเก้าวิหาร, ก้าววงกลม

มวยไท่จี๋ตระกูลหยางสายอาจารย์หยางเส้าโหว

มวยไท่จี๋ตระกูลหยาง สายอาจารย์หยางเส้าโหว อาจจะไม่เป็นที่รู้จักนักในประเทศไทย เนื่องจากมีผู้สืบทอดน้อย แต่อาจารย์หยางเส้าโหวคือพี่ชายอาจารย์หยางเฉิงฝู่ผู้ที่ฝึกมวยตั้งแต่เด็ก ได้รับการถ่ายทอดวิชาทั้งจากปู่หยางลู่ฉาน ลุงหยางปานโหว และบิดาคือหยางเจี้ยนโหวอย่างครบถ้วน เป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น “หยางผู้ไร้เทียมทาน” ในรุ่นที่ 3 ของตระกูล เพียงแต่นิสัยกร้าว ไม่เข้าสังคม จึงมีศิษย์น้อย เน้นสอนตามวิชาดั้งเดิมเท่านั้น วิชามวยเน้นที่มวยวงแคบตระกูลหยางแบบดั้งเดิม ขณะที่อาจารย์หยางเฉิงฝู่สอนชุดมวยวงกว้างแบบปรับปรุงใหม่เพื่อสอนคนทั่วไป

ประวัติย่ออาจารย์หยางเส้าโหว มีดังนี้

หยางจ้าวสยง 楊兆熊 (ค.ศ. 1862 – 1929)

มวยไท่จี๋ตระกูลหยาง ชื่อเจ้าสยง ชื่อรอง (อักษร) เมิ่งเสียง ภายหลังตั้งฉายา (ฮ่าว) ตนเองว่าเส้าโหว เป็นบุตรชายคนโตของหยางเจี้ยนโหว (เป็นพี่ชายของหยางเฉิงฝู่) ภายหลังคนเรียกเป็น “ต้าเซียนเซิง” (ท่านใหญ่) อายุ 7 ขวบฝึกมวยไท่จี๋ การเคลื่อนไหวจมแน่นอย่างที่สุด ถนัดใช้จิ้งคือ เหลิ่ง (ฉับพลัน) ต้วน (สะบั้น) หลิงคง (ทะยานอากาศโดยไม่แตะตัว) จิ้ง นิสัยกล้าวแกร่งไม่ยอมคน ชอบต่อสู้กับความอยุติธรรม เชี่ยวชาญในการสานโส่ว (มืออิสระ ต่างกับทุยโส่วหรือผลักมือคือไร้รูปแบบ และอิสระทั้งการก้าวเดินและโสวฝ่าหรือวิธีมือ) กงฟูถึงขั้นสูงล้ำ ท่ามวยเล็กและแข็งกร้าว การเคลื่อนไหวไวและจม ทุกส่วนล้วนแต่แสวงหาความรัดกุมเล็กแน่น ในส่วนของเน่ยจิ้ง (จิ้งภายใน) แต่ละอย่างของมวยไท่จี๋ล้วนแต่รู้แจ้งและโดดเด่นเป็นแบบฉบับของตนเอง มีบุตรหนึ่งคนเจิ้นเซิง

ลำดับสายวิชาหลักของอาจารย์เหลียง

อาจารย์เหลียงได้รับการถ่ายทอดจากอาจารย์ที่ได้สืบทอดวิชามวยไท่จี๋ทั้งสองสายวิชาคือทั้งสายอาจารย์หยางเส้าโหวและหยางเฉิงฝู่ แต่ได้รับการสืบทอดวิชาในสายอาจารย์หยางเส้าโหวมากที่สุด และได้รับการถ่ายทอดวิชาจากสายลูกศิษย์อาจารย์หยางเส้าโหวถึงสองสายสามอาจารย์
โดยสายวิชาหลักทางการนั้นคือสายอาจารย์กู้ลี่เซิงหรือกู้หลี่ว์ผิง ถือเป็นรุ่นที่ 4 ถ่ายทอดให้แก่ศิษย์ปิดประตูคนสุดท้ายอาจารย์ฉือชิ่งเซิงเป็นรุ่นที่ 5 และอาจารย์เหลียงเป็นศิษย์ในของอาจารย์ฉือชิ่งเซิงเป็นรุ่นที่ 6 ของมวยไท่จี๋ตระกูลหยางสายกู้ลี่เซิง

อาจารย์กู้ลี่เซิงกับอาจารย์ฉือชิ่งเซิง

อาจารย์ฉือชิ่งเซิงกับอาจารย์เหลียงในพิธีรับศิษย์ใน

การผลักมือและการฟาจิ้น (ฟาจิ้ง)

ตัวอย่างการสอนในคลาสของไทย

ช่องทางการติดต่อ

Facebook Page ต่างประเทศLiang DeHua Taijiquan International

Facebook Page ไทย : มวยภายใน ศิลปะการต่อสู้จีน

Facebook ส่วนตัว : Liang De Hua (จำกัดการรับเพื่อนนะครับ กรุณาข้อความแนะนำตัวไปก่อน เพราะอาจารย์เหลียงจะรับแค่คนรู้จัก)